Thursday, January 3, 2013

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ เล็บมือนาง

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ เล็บมือนาง

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :    Quisqualis indica  L.

ชื่อสามัญ :   Drunen sailor, Rangoon ceeper

วงศ์ :   COMBRETACEAE

ชื่ออื่น :  จะมั่ง จ๊ามั่ง (ภาคเหนือ) ไท้หม่อง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) อะดอนิ่ง (มลายู-ยะลา)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้พุ่มเลื้อยที่เติบโตเร็ว ส่วนที่อ่อนมีขนสั้นหนานุ่ม สีสนิม ใบเดี่ยวติดตรงข้าม หรือบางส่วนสลับ หรือเวียนสลับเป็นวงรอบ ใบรูปหอกขอบขนานหรือรูปรี ขนาดกว้าง 5-18.5 ซม. ยาว 2.5-9 ซม. ปลายใบเรียวแหลม โคนใบกลมหรือค่อนข้างรูปหัว ดอกมีกลิ่นหอมออกเป็นช่อที่ยอดและตามซอกใบห้อยย้อยลงมา กลีบเลี้ยงเป็นหลอดมีสีเขียวปลายแฉกสามเหลี่ยมสั้นๆ กลีบดอกรูปขอบขนาน ขนาด 10-20 x 3-6 มม. ดอกเริ่มบาน สีขาวเปลี่ยนเป็นสีชมพูจนถึงแดงเข้ม ผลทรงรีแคบๆ 5 พู ยาวประมาณ 2.5 ซม. สีน้ำตาลแดงเป็นมัน
ส่วนที่ใช้ : ใบ  ต้น  ราก เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่แห้ง

สรรพคุณ :

    ใบ
    -   ตำชโลม หรือทาแผล ทาฝี
    -   แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้

    ต้น - ใช้เป็นยาแก้ไอ

    ราก - ใช้ถ่ายพยาธิ รักษาตานซาง

    เมล็ด - ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม, พยาธิเส้นด้ายในเด็ก

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ใช้เมล็ดในของผลเล็บมือนางที่แก่และแห้ง 4-5 เมล็ด (4-6 กรัม) หั่นทอดกับไข่ให้เด็กอายุประมาณ 5-6 ขวบรับประทานขับถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม
          ผู้ใหญ่ : ใช้ 5-7 เมล็ด (หนัก 10-15 กรัม) ทุบพอแตก ต้มเอาน้ำดื่ม หรือหั่นทอดกับไข่รับประทาน
ข้อควรระวัง :  ถ้าใช้มากเกินขนาด จะทำให้อาเจียน มึนงง อ่อนเพลีย
สารเคมี :  มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ  Quisquallic acid

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะหาด

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะหาด

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Artocarpus lakoocha  Roxb.

วงศ์ :   Moraceae

ชื่ออื่น :  กาแย  ขนุนป่า  ตาแป  ตาแปง  มะหาดใบใหญ่  หาดหนุน  หาด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 15-25 เมตร ลำต้นตั้งตรง ผิวเปลือกนอกค่อนข้างขรุขระสีน้ำตาลดำ หรือสีเทาแกมน้ำตาล บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตก และยางไหลซึมออกมาติดต้น ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ หรือรูปยาวรี ปลายแหลม โคนเว้ามน กว้าง 5-12 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเล็กๆ ใบแก่ขอบมักเรียบ หูใบเรียวแหลม ดอก ช่อกลมเล็กๆ สีเขียวอมเหลือง ขนาดเล็ก ออกตามง่ามใบ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่คนละช่อ  แต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกตัวเมียกลีบค่อนข้างกลมมน โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกตัวผู้กลีบเป็นรูปขอบขนานปลายกลีบหยัก ยาว 0.5-1 เซนติเมตร ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน ผล เป็นผลรวม กลมแป้นใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6-8 เซนติเมตร เปลือกนอกผิวขรุขระ เนื้อผลค่อนข้างนุ่ม สีเขียว เมื่อแก่สีน้ำตาลเหลือง เมล็ด แต่ละผลมี 1 เมล็ด  รูปรี ติดผลเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ส่วนที่ใช้ :  แก่นต้นมะหาด อายุ 5 ปีขึ้นไป  ราก เปลือก

สรรพคุณ :

    แก่น -  ให้ปวกหาด ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด และพยาธิไส้เดือน ละลายกับน้ำ ทาแก้ผื่นคัน

    แก่นเนื้อไม้ -  แก้ขุกแน่น แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ ขับลม ผายลม แก้ผื่นคัน แก้ตานขโมย เป็นยาระบาย ถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม ถ่ายพยาธิเส้นด้าย ถ่ายพยาธิตัวตืด ขับเลือด แก้ลม ถ่ายพยาธิตัวแบน แก้กระษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้ท้องผูกไม่ถ่าย

    แก่น -  แก้โรคกระษัยไตพิการ แก้กระษัยดาน แก้กระษัยเสียด แก้กระษัยกล่อน แก้กระษัยลมพานไส้ แก้กระษัยทำให้ท้องผูก  แก้ดวงจิตขุ่นมัว ระส่ำระสาย แก้นอนไม่หลับ แก้เบื่ออาหาร แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปัสสาวะกระปริบกระปรอย ถ่ายพยาธิ  พยาธิตัวตืด แก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย แก้ฝีในท้อง แก้ปวด แก้เคือง กระจายโลหิต

    ราก -  แก้ไข้ แก้กระษัยเส้นเอ็น ขับพยาธิ แก้ไข้เพื่อฝีภายใน แก้พิษร้อน

    เปลือก - แก้ไข้

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

    ผงปวกหาด  เตรียมได้โดยการเอา แก่นมะหาดมาต้มเคี่ยวด้วยน้ำไปนานจนเกิดฟองขึ้น แล้วช้อนฟองขึ้นมาตากแห้ง จะได้ผงสีเหลือง นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ขนาดรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา (ประมาณ 3-5 กรัม) รับประทานกับน้ำสุกเย็น ก่อนอาหารเช้า หลังจากรับประทานยาปวกหาดแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง ให้รับประทานดีเกลือ หรือยาถ่ายตาม เพื่อระบายท้อง จะถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิไส้เดือนออกหมด

    สำหรับผู้ถ่ายพยาธิตัวตืด
    ใช้ผงมะหาด 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ รับประทานครั้งเดียว อีก 2 ชั่วโมงต่อมาให้รับประทานยาถ่ายตาม

    สำหรับเด็ก ใช้ยาครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานครั้งเดียว อีก 2 ชั่วโมงต่อมาจึงรบประทานยาถ่ายตาม

อาการข้างเคียง
          ผู้ป่วยบางราย มีอาการแพ้ มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว หน้าแดง ผิวหนังแดง คัน ตาแดง มีไข้ อาการจะหายไปภายใน 1-2 วัน
ข้อควรระวัง :  ห้ามรับประทานผงปวกหาดกับน้ำร้อน จะทำให้คลื่นไส้อาเจียนได้
สารเคมี : ที่พบในมะหาด

    เปลือกราก
    -  มี 5, 7 Dihydroxy flavone - 3 - 0 - - L - rhamnoside
    -  Galangin - 3 - beta - D - galactosyl - (1-4) - alfa - L - rhamnoside
    -  Lupeol
    - Quercetin - 3 - O - beta - L - rhamnopy ranoside
    -  beta - Sitosterol

    ทั้งต้น -  มี  2,  3,  4,  5  - Tetrahydroxystibene

    ต้น  - มี   5 - Hydroxy - 2 ,4,7 - trimethoxy flsvone
          -  2, 3, 4, 5, - Tetrahydroxystibene

    เปลือกต้น - มี Tannin , Amyrin acetate, Lupeol acetate

นอกจากนี้ยังพบสารเคมี โดยไม่ระบุว่าพบในส่วนใดคือ 2 , 3 ,4 , 5 - Tetrahydroxystibene
      

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะเฟือง

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะเฟือง

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Averrhoa carambola  L.

ชื่อสามัญ :   Star fruit

วงศ์ :   Averrhoaceae

ชื่ออื่น :  เฟือง (ภาคใต้)  สะบือ (เขมร)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 3-10 เมตร แตกกิ่งก้านสขามาก ใบ เป็นใบประกอบขนาดคล้ายใบมะยม สีเขียวเป็นมัน เรียงเป็นคู่ตรงข้าม ดอก เป็นช่อเล็กออกตามง่ามใบ สีม่วง ขาว ชมพู ผล เดี่ยว เป็นกลีบ หน้าตัด รูปดาว 5 แฉก สีเขียวอ่อน สุกสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เมล็ด มีขนาดเล็ก
ส่วนที่ใช้ :  ดอก ใบ ผล ราก

สรรพคุณ :

    ดอก -  ขับพยาธิ

    ใบ, ผล  -  ทำยาต้ม ทำให้หยุดอาเจียน

    ผล
    - มี oxalic ทำให้เลือดจับเป็นก้อน
    - ระบาย
    - แก้เลือดออกตามไรฟัน
    - แก้บิด ขับน้ำลาย ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว
    - ลดอาการอักเสบ

    ใบและราก - เป็นยาเย็น เป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ถอนพิษไข้

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะขาม

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะขาม

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Tamarindus indica  L.

ชื่อสามัญ :   Tamarind

วงศ์ :    Leguminosae - Caesalpinioideae

ชื่ออื่น :  ขาม (ภาคใต้) ตะลูบ(ชาวบน-นครราชสีมา) ม่องโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล (เขมร-สุรินทร์) หมากแกง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ส่ามอเกล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ไม้ต้นขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกต้นขรุขระและหนา สีน้ำตาลอ่อน ใบ เป็นใบประกอบ ใบเล็กออกตามกิ่งก้านใบเป็นคู่ ใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ ตามปลายกิ่ง หนึ่งช่อมี 10-15 ดอก ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีเหลืองและมีจุดประสีแดงอยู่กลางดอก ผล เป็นฝักยาว รูปร่างยาวหรือโค้ง ยาว 3-20 ซม. ฝักอ่อนมีเปลือกสีเขียวอมเทา สีน้ำตาลเกรียม เนื้อในติดกับเปลือก เมื่อแก่ฝักเปลี่ยนเป็นเปลือกแข็งกรอบหักง่าย สีน้ำตาล เนื้อในกลายเป็นสีน้ำตาลหุ้มเมล็ด เนื้อมีรสเปรี้ยว และหวาน
ส่วนที่ใช้ :

    เมล็ดในที่กะเทาะเปลือกออกแล้ว (ต้องคั่วก่อน จึงกะเทาะเปลือกออก)

    เนื้อหุ้มเมล็ด

สรรพคุณ :

    เมล็ด  -   สำหรับการถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย

    ใบ -  ขับเสมหะ

    แก่น  -  ขับโลหิต

    เนื้อ -  เป็นยาระบาย ขับเสมหะ แก้ไอ

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

    ถ่ายพยาธิ
    ใช้เมล็ดในที่มีสีขาว 20-25 เมล็ดต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานเนื้อทั้งหมด 1 ครั้ง หรือคั่วให้เนื้อในเหลือง กะเทาะเปลือก แช่น้ำให้นิ่ม เคี้ยวรับประทานเช่นถั่ว

    แก้ท้องผูก
    ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดคลุกเกลือรับประทาน ระบายท้อง

    แก้ไอ, ขับเสมหะ
    ใช้เนื้อในฝักแก่หรือมะขามเปียก จิ้มเกลือรับประทาน

สารเคมี :
          - เนื้อในหุ้มเปลือก มี tartaric acid 8-18%  invert sugar 30-40%
          - เมล็ด  มี albuminold  14-20% carbohydrate 59-65%  semi-drying fixed oil 3.9-20%  mucilaginous materal 60%
      

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะเกลือ

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ มะเกลือ

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :    Diospyros mollis Griff.

ชื่อสามัญ :   Ebony tree

วงศ์ :   Ebenaceae

ชื่ออื่น :  ผีเผา (ฉาน-ภาคเหนือ) มักเกลือ (เขมร-ตราด)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นเปลา โคนต้นมักเป็นพูพอน ผิวเปลือกเป็นรอยแตกสะเก็ดเล็กๆ สีดำ เปลือกในสีเหลือง กระพี้สีขาว กิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นประปราย ใบ เป็นใบเดี่ยวขนาดเล็กรูปไข่หรือรีเรียงตัวแบบสลับ ปลายใบสอบเข้าหากัน โคนใบกลม หรือมน ผิวใบเกลี้ยง ใบกว้าง 3.5-4.0 ซม. ยาว 9-10 ซม. ใบที่ยังอ่อนจะมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกตัวผู้มีขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน หนึ่งช่อมี 3 ดอก ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ลักษณะดอกเหมือนกัน คือ กลีบรองดอกยาว 0.1-0.2 ซม. โครกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายกลีบดอกแยกเป็น 4 กลีบ สีเหลืองเรียนเวียนซ้อนทับกัน ตรงกลางดอกมีเกสร ผล กลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ผิวเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีดำ ผลแก่จัดจะแห้ง มีกลีบเลี้ยงติดบนผล 4 กลีบ ผลแก่ราวเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เมล็ด แบน สีเหลือง 4-5 เมล็ด ขนาดกว้าง 0.5-0.7 ซม. ยาว 1-2 ซม. ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่ใช้ :  ราก, ผลมะเกลือสด โตเต็มที่และสีเขียวจัด (ห้ามใช้ผลสุกสีเหลืองหรือผลสีดำ)

สรรพคุณ :

    ราก  -  ฝนกับน้ำซาวข้าว รับประทานแก้อาเจียน แก้ลม 

    ผลมะเกลือสดและเขียวจัด - เป็นสมุนไพรยอดเยี่ยมที่สุดในการถ่ายพยาธิ กำจัดตัวตืด หรือไส้เดือนตัวกลม พยาธิปากขอ พยาธิเข็มหมุด

วิธีและปริมาณที่ใช้
          ผลสดโตเต็มที่และเขียวจัด จำนวนผลเท่าอายุแต่ไม่เกิน 25 ผล (คนไข้อายุ 40 ปี ใช้เพียง 25 ผล) ตำใส่กะทิ คั้นเอาแต่น้ำกะทิ ช่วยกลบรสเฝื่อน ควรรับประทานขณะท้องว่าง ถ้า 3 ชั่วโมงแล้วยังไม่ถ่ายใช้ยาระบาย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำดื่มตามลงไป
สารเคมี - สารกลุ่มพีนอล ชื่อ diospyrol ซึ่งถูก oxidize ง่าย
ข้อควรระวัง

    ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำว่า 10 ขวบ หญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดใหม่ๆ และผู้ป่วยในโรคอื่นๆ

    ระวังอย่าให้เกินขนาด

    ถ้าเกิดอาการท้องเดินหลายๆ ครั้ง และมีอาการตามัวให้รีบพาไปพบแพทย์ด่วน

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ ทับทิม

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ ทับทิม



ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Punica granatum  L.

ชื่อสามัญ :   Pomegranate , Punica apple

วงศ์ :   Punicaceae

ชื่ออื่น :  พิลา (หนองคาย) พิลาขาว มะก่องแก้ว (น่าน) มะเก๊าะ (เหนือ) หมากจัง (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้น หรือพรรณไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ลักษณะผิวเปลือกลำต้นเป็นสีเทา ส่วนที่เป็นกิ่งหรือยอดอ่อนจะเป็นเหลี่ยม หรือ มีหนามแหลมยาวขึ้น ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรี โคนใบมน แคบ ส่วนปลายใบเรียวแหลมสั้น ผิวหลังใบ เกลี้ยงเป็นมัน ใต้ท้องใบจะเห็นเส้นใบได้ชัด ขนาดของใบกว้างประมาณ 1 - 1.8 ซม. ยาว ประมาณ 2.5 - 6 ซม. ดอก ดอกออกเป็นช่อ หรืออาจจะเป็น ดอกเดียว ในบริเวณปลายยอด หรือง่ามกิ่ง ลักษณะของดอกมีเป็น สีส้ม สีขาว หรือสีแดง ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ปลายกลีบ ดอกจะแยกออกจากกัน ตรงกลางดอกมีเกสร ตัวเมีย และตัวผู้ซึ่งมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ขนาดของดอกบานเต็มที่มีเส้นผ้าศูนย์กลางประมาณ 2 - 3 ซม. ผลมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้าง กลม ผิวเปลือกนอกหนาเกลี้ยง ผลเมื่อแก่หรือ สุกเต็มที่มีสีเหลืองปนแดง และลักษณะของผล จะแตก หรืออ้างออก ข้างในผลก็จะมีเมล็ดเป็น จำนวนมาก เป็นรูปเหลี่ยม มีสีชมพูสด ดอก ดอกออกเป็นช่อ หรืออาจจะเป็น ดอกเดียว ในบริเวณปลายยอด หรือง่ามกิ่ง ลักษณะของดอกมีเป็น สีส้ม สีขาว หรือสีแดง ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ปลายกลีบ ดอกจะแยกออกจากกัน ตรงกลางดอกมีเกสร ตัวเมีย และตัวผู้ซึ่งมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ขนาดของดอกบานเต็มที่มีเส้นผ้าศูนย์กลางประมาณ 2 - 3 ซม. ผลมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้าง กลม ผิวเปลือกนอกหนาเกลี้ยง ผลเมื่อแก่หรือ สุกเต็มที่มีสีเหลืองปนแดง และลักษณะของผล จะแตก หรืออ้างออก ข้างในผลก็จะมีเมล็ดเป็น จำนวนมาก เป็นรูปเหลี่ยม มีสีชมพูสด
ส่วนที่ใช้ :  ใบ ดอก เปลือกผลแห้ง เปลือกต้นและเปลือกราก เมล็ด

สรรพคุณ :

    ใบ  -   อมกลั้วคอ ทำยาล้างตา

    ดอก -  ใช้ห้ามเลือด

    เปลือกและผลแห้ง
    - เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน แก้บิด
    - แก้โรคลักกะปิดลักกะเปิด

    เปลือกต้นและเปลือกราก
    -  ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด , พยาธิตัวกลม

    เมล็ด  -  แก้โรคลักกะปิดลักกะเปิด

วิธีและปริมาณที่ใช้

    ถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิตัวกลม ได้ผลดี
    ใช้เปลือกสดของราก , ต้น ที่เก็บใหม่ๆ 60 กรัม หรือประมาณ 1/2 กำมือ เติมกานพลูหรือกระวานลงไปเล็กน้อย เพื่อแต่งรส ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซี.ซี.) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง รับประทานยาถ่าย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะตาม  ควรอดอาหารก่อนรับประทานยา

    ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ไม่ใช่บิด หรือ อหิวาตกโรค)
    ใช้เปลือกผล ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1/4 ของผล ฝนกับน้ำฝนหรือน้ำปูนใสให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง หรือต้มกับน้ำปูนใส แล้วดื่มน้ำที่ต้มก็ได้

    บิด (มีอาการปวดเบ่ง และมีมูก หรืออาจมีเลือดด้วย)
    ใช้เปลือกผลแห้งของทับทิม ครั้งละ 1 กำมือ (3-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มวันละ 2 ครั้ง อาจใช้กานพลูหรืออบเชยแต่งกลิ่นให้น่าดื่มก็ได้

สารเคมี
          เปลือกผลมีรสฝาด เนื่องจากมี tannin 22-25%  gallotannic acid สารสีเขียวอมเหลือง รากมีสารอัลคาลอยด์ ชื่อ pelletierine และอนุพันธ์ของ pelletierine
คุณค่าด้านอาหาร
          ทับทิมใช้รับประทานเป็นผลไม้รสหวาน หรือเปรี้ยวหวาน มีวิตามินซี และแร่ธาตุหลายตัว ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน และบำรุงฟันให้แข็งแรง

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ แก้ว

กลุ่มยาถ่ายพยาธิ แก้ว

 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :    Murraya paniculata  (L.) Jack.

ชื่อสามัญ :   Andaman satin wood, Chinese box tree, Orange jasmine

วงศ์ :    RUTACEAE

ชื่ออื่น :  กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี) แก้วขาว (ภาคกลาง) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) จ๊าพริก (ลำปาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร ไม่ผลัดใบ ใบ เป็นใบประกอบ ผิวใบมันเข้ม และเป็นมันทั้งสองด้าน ดอก ช่อ ออกเป็นกระจุก สีขาว ร่วงง่าย มีกลิ่นหอมมาก ผล สดกลมรี หรือรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ที่เปลือกมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัด กว้าง 5-8 มม. ยาว 0.8-1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีส้มแดง เมล็ดรูปไข่ปลายสอบ มีขนสั้นๆ อยู่รอบเมล็ด กว้าง 4-6 มม. ยาว 6-9 มม. สีขาวขุ่น มีจำนวน 1-2 เมล็ดต่อผล
ส่วนที่ใช้ : 

    ก้านและใบ - เก็บได้ตลอดปี ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

    ราก - เก็บในฤดูหนาว เอาดินออกล้างให้สะอาด หั่นเป็นแผ่น ตากแห้งเก็บไว้ใช้

    ใบ ดอก และผลสุก

สรรพคุณ :

    ก้านและใบ  - รสเผ็ด สุขุม ขม ใช้เป็นยาชาระงับปวด แก้ผื่นคันที่เกิดจากชื้น แก้แผลเจ็บปวดเกิดจากการกระทบกระแทก ต้มอมบ้วนปาก แก้ปวดฟัน 

    ราก -  รสเผ็ด ขม สุขุม ใช้แก้ปวดเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากชื้น และที่เกิดจากแมลงกัดต่อย

    ใบ -  ขับพยาธิตัวตืด แก้บิด แก้ท้องเสีย

    ราก, ใบ - เป็นยาขับประจำเดือน

    ดอก, ใบ -  ช่วยย่อย แก้ไขข้ออักเสบ แก้ไอ เวียนศีรษะ

    ผลสุก -  รับประทานเป็นอาหารได้

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้

    ใช้ภายใน รับประทานขับพยาธิตัวตืด แก้บิด แก้ท้องเสีย
    - ใช้ก้านและใบสด 10-15 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น
    -  หรือใช้ดองเหล้า ดื่มแต่เหล้า ครั้งละ 1 ถ้วยตะไล ใช้เป็นยาขับประจำเดือน
    -  ใช้รากแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้า-เย็น

    ใช้ภายนอก
    -  ใช้ก้านและใบสด ตำพอก หรือคั้นเอาน้ำทาบริเวณที่เป็น
    -  ใช้ใบแห้งบดเป็นผงใส่บาดแผล
    -  รากแห้งหรือสด ตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
    -  ใบและก้านสด สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50 % ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่

สารเคมี
          ใบ  เมื่อกลั่นด้วยไอน้ำให้น้ำมันหอมระเหยสีเข้ม 0.01%  กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากใบประกอบด้วย :
          1 - Cadinene (sesquiterpene) 32.5%   bisaboline 18%  betacaryophyllene 14%  carene 3.5%
          5 - quaiazulene 1.2%  methyl anthrailate 1.5%  euhenol 5%  citronellol 4.5%  geranoil 9.1%   methylsalicylate 3.5%